ภูมิหลัง ของ การลงประชาทัณฑ์ลอราและแอล. ดี. เนลสัน

การลงประชาทัณฑ์ในสหรัฐ

ดูสารนิเทศเพิ่มเติมที่: การลงประชาทัณฑ์ในสหรัฐ

การลงประชาทัณฑ์เป็นปรากฏการณ์สาธารณะที่ชวนตื่นกลัวและเกิดขึ้นไม่บ่อย เอมี ลูอีส วูด (Amy Louise Wood) นักประวัติศาสตร์ เขียนไว้ว่า[13]

เมื่อเทียบกับการขู่เข็ญและคุกคามรูปแบบอื่น ๆ ที่ชาวแอฟริกันอเมริกันต้องเผชิญภายใต้กฎหมายจิมโครว (Jim Crow) แล้ว การลงประชาทัณฑ์เป็นอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยและไม่ปรกติ คนผิวดำทั้งหญิงและชายมีแนวโน้มจะตกเป็นเหยื่อของการทำร้ายร่างกาย การฆ่า หรือการข่มขืนกระทำชำเรา มากกว่าการลงประชาทัณฑ์...แต่แม้จะค่อนข้างนาน ๆ ทีมีครั้ง หรืออาจเป็นเพราะนาน ๆ ทีมีครั้ง การลงประชาทัณฑ์จึงส่งผลทางจิตวิทยาเป็นการเฉพาะ จนก่อให้เกิดความหวาดหวั่นในระดับหนึ่งซึ่งมากกว่าความรุนแรงรูปแบบอื่นใดทั้งสิ้น

การลงประชาทัณฑ์อาจได้แก่การจับคนขึ้นแขวน ผู้กระทำอาจเป็นคนกลุ่มเล็ก ๆ ในเวลากลางคืน หรืออาจกระทำต่อหน้ามหาชนในเวลากลางวัน อย่างหลังนี้เรียกว่า การลงประชาทัณฑ์ให้ชม (spectacle lynching) ผู้เข้าชมการลงประชาทัณฑ์อาจเป็นทุกคนในชุมชนนั้น ๆ บางทีหนังสือพิมพ์ก็ลงข่าวล่วงหน้า และมีรถไฟเที่ยวพิเศษเพื่อนำคนในพื้นที่ห่างไกลมาดูการลงประชาทัณฑ์[14] ตัวอย่างเช่น ในการลงประชาทัณฑ์เจสซี วอชิงตัน (Jesse Washington) ที่เท็กซัสเมื่อ ค.ศ. 1916 มีผู้มาชมถึง 10,000 คน รวมถึงนายกเทศมนตรีและผู้บัญชาการตำรวจท้องถิ่น[15]

นอกเหนือจากการจับแขวนแล้ว ผู้เคราะห์ร้ายอาจยังถูกทรมานก่อนเผาทั้งเป็น บางทีก็แยกชิ้นส่วนศพออกขายเป็นของที่ระลึก[16][17]

ผู้กระทำเป็นได้ทั้งคนผิวขาวและคนผิวดำ แต่สารทางการเมือง กล่าวคือ การส่งเสริมความเป็นใหญ่ของคนผิวขาว และการลดอำนาจของคนผิวดำ ก็เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่ง นอกจากนี้ การลงประชาทัณฑ์ที่ไม่ครึกโครมก็ยังมีผู้คอยบันทึกภาพออกทำเป็นไปรษณียบัตร[18][19]

สถาบันทัสกีจี (Tuskegee) ระบุว่า ตามบันทึกในช่วง ค.ศ. 1882–1964 แล้ว มีผู้ถูกลงประชาทัณฑ์ในสหรัฐ 4,745 คน ในจำนวนนี้ 3,446 คน (คิดเป็นร้อยละ 72.7) เป็นคนผิวดำ[20][21]

ในโอคลาโฮมา

ผู้ว่าการโอคลาโฮมากล่าวใน ค.ศ. 1892 ว่า ประชากรในดินแดนโอคลาโฮมา "ราวร้อยละ 85 เป็นคนผิวขาว, ร้อยละ 10 เป็นคนผิวสี, และร้อยละ 5 เป็นอินเดียน" ครั้น ค.ศ. 1907 ท้องที่จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นรัฐ โดยมีธรรมนูญการปกครองที่ยอมรับการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ ซึ่งเรียกกันว่า กฎหมายจิมโครว (Jim Crow laws)[22]

ใน ค.ศ. 1911 มีสถิติว่า โรงเรียนประจำรัฐมีนักเรียนผิวขาว 555 คน และผิวดำ 1 คน[23]

ช่วง ค.ศ. 1885–1930 มีบันทึกว่า เกิดการลงประชาทัณฑ์ 147 ครั้งในโอคลาโฮมา ครั้นมีการแบ่งแยกเชื้อชาติใน ค.ศ. 1907 ผู้เคราะห์ร้ายส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวซึ่งลักขโมยสัตว์หรือลักเล็กขโมยน้อย และในภาพรวมแล้ว ผู้เคราะห์ร้ายเป็นคนผิวขาว 77 คน, คนผิวดำ 50 คน, อเมริกันอินเดียน 14 คน, ไม่ทราบข้อมูล 5 คน, และคนจีน 1 คน[24]

ในเหตุการณ์ 4 ครั้งช่วง ค.ศ. 1851–1946 ผู้เคราะห์ร้ายเป็นหญิง 5 คน ผิวดำ 2 คน, ผิวขาว 2 คน, อีก 1 คนเป็นคนลักษณะอื่น[25]

แหล่งที่มา

WikiPedia: การลงประชาทัณฑ์ลอราและแอล. ดี. เนลสัน http://192.203.127.197/archive/bitstream/handle/12... http://genealogytrails.com/oka/okfuskee/news_crime... http://articles.latimes.com/2000/aug/27/news/mn-11... http://dl.lib.brown.edu/repository2/repoman.php?ve... http://dl.lib.brown.edu/repository2/repoman.php?ve... http://library.brown.edu/pdfs/1292363091648500.pdf http://www.digitalhistory.uh.edu/active_learning/e... https://books.google.com/books?ei=P8_qUOHAFebW2gXH... https://books.google.com/books?id=-0GWpeccB1MC&pg=... https://books.google.com/books?id=HiazQsueqM0C&pg=...